สำรวจ

3 ขั้นตอน ตัดหินโบราณ กับหลักฐานชัดสุดๆ เท่าที่เคยเห็นมา

ตั้งต้นจาก การมีอยู่ไม่น้อย ของปราสาทหินในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน ทำให้หนึ่งในประเด็นทางโบราณคดีที่น่าสนใจคือ ประเด็นวัสุดก่อสร้าง ปราสาทสร้างจากหินอะไรอ่ะ ? ไปเอาหินกันมาจากไหนนะ ? แล้ว ขนหินหนักๆ มากันยังไงเนี่ย ? เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามติดใจทุกครั้ง เวลาเราไปเที่ยวชมปราสาทหิน ซึ่งจากการบุกป่าฝ่าดงของนักโบราณคดีรุ่นใหญ่ในสมัยก่อน ปัจจุบันมีรายงานแหล่งตัดหินโบราณ กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น 1) แหล่งตัดหินทรายสีขาว ริมถนนมิตรภาพ บ้านมอจะบก อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ที่คาดว่าเป็นแหล่งหินสำคัญ ในการสร้างปราสาทหินพิมาย 2) แหล่งตัดหินทรายสีแดง บ้านส้มกบงาม อำเภอสูงเนิน ที่นำมาใช้สร้างปราสาทหินพนมวัน 3) แหล่งตัดหินทรายสีชมพู บ้านสายตรี ๓ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ที่เชื่อว่าใช้สร้างปราสาทหินพนมรุ้ง หรือแม้กระทั่ง 4) แหล่งตัดหินทรายสีขาวอมเหลือง บ้านโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ที่เป็นแหล่งวัสดุหลักในการแกะสลักพระหินทราย สมัยอยุธยา (บางส่วนเป็นหินทรายแดงมาจากจังหวัดราชบุรี) มีอีกมากมายที่ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึง และผู้เขียนก็เชื่อว่า ยังมีอีกหลายที่ ที่ยังรอการค้นพบ ทั้งแหล่งตัดหินทรายและแหล่งศิลาแลง ที่ใช้กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ในการสร้างปราสาทหิน

เพิ่มเติม : พนมวัน – ธรณีวิทยา : ปราสาทหินสไตล์ LGBTQ+

เพิ่มเติม : พระหินทรายสมัยอยุธยา แหล่งที่มาและเส้นทางขนหิน

ปราสาทหินพนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ วัสดุส่วนใหญ่ สร้างจากหินทรายสีชมพู ที่น่าจะนำมาจาก แหล่งตัดหิน บ้านสายตรี ๓ อำเภอบ้านกรวด ห่างออกไปทางทิศใต้ประมาณ 25 กิโลเมตร

ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา สร้างจาก หินทรายสะอาด หรือ หินทรายควอตซ์อารีไนต์ (quartz arenite) ในทางธรณีวิทยา หรือ หินทรายแก้ว เรียกตามประสาชาวบ้าน ดังนั้นในยามค่ำคืน หากส่องไฟฉายไปยังตัวปราสาท จะเห็นแสงระยิบระยับ เหมือนมีเพชรหรือเม็ดแก้ว ติดอยู่ตามตัวปราสาท บางคนจึงตั้งฉายาปราสาทหินพิมายว่า ปราสาทเรือนแก้ว

ในบรรดาแหล่งตัดหินที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเยือนมาแล้วทุกที่ ทั้งแบบไปนั่งจ๋องพินิจพิเคราะห์ และแบบปุ๊บปั๊บทัวร์ก็เคย ซึ่งแทบทั้งหมด ลักษณะปรากฏที่ตามองเห็น คือร่องรอยของหินที่ถูกตัดแล้วแต่ไม่ถูกขนไป หรือร่องรอยที่หลงเหลือ จากการสกัดหินออกไปจากพื้นที่ โดยมีป้ายจากหน่วยงานท้องถิ่นหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พยายามอธิบายการตีความความเป็นไปได้ ของกระบวนการการตัดแต่งและการขนย้ายหินในแต่ละพื้นที่

ดั่งฟ้าประทาน ดังโชคชะตาเข้าข้าง จากแผนการสำรวจแหล่งตัดหินเพิ่มเติม ขยายพื้นที่ออกจากแหล่งตัดหิน บ้านสายตรี ๓ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ก่อนกำหนดการเข้าพื้นที่ 1 วัน เกิดไฟไหม้ป่า บริเวณสวนป่าริมอ่างเก็บน้ำห้วยเมฆา บ้านสายตรี ๔ ห่างออกมาจากแหล่งตัดหินเดิม (บ้านสายตรี ๓) ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1 กิโลเมตร การเข้าพื้นที่ในวันถัดมาจึงเผยให้เห็น ที่ราบสุดลูกหูลูกตา ไม่มีต้นไม้ใบหญ้าขวางกั้น และเห็นการกระจายตัวของก้อนหินทรายในพื้นที่อย่างชัดเจน ชัดเจนสุดๆ อย่างที่ผู้เขียนไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้ผู้เขียนได้เห็นทุกภาพกว้าง ทุกมุมแคบ และสามารถเก็บรายละเอียดของกิจกรรมการตัดหินในอดีต ได้อย่างสะดวกโยธิน รูปกว่า 500 รูป ถูกถ่ายเก็บไว้เป็นหลักฐาน เพราะผู้เขียนก็นึกไม่ออกว่า อีกเมื่อไหร่ ถึงจะมีโอกาสได้เห็นภาพชัดขนาดนี้

ตัวอย่างสภาพพื้นที่ แหล่งตัดหินริมอ่างเก็บน้ำห้วยเมฆา บ้านสายตรี ๔ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากไฟไหม้ต้นไม้ใบหญ้าในพื้นที่ จนสามารถมองเห็นการกระจายตัวของหินได้อย่างชัดเจน

หลังจากเข้าที่พัก บรรดารูปถ่ายถูกจัดกลุ่มกิจกรรมอย่างเป็นระบบ ทำให้ผู้เขียนสามารถ แปลความและอนุมานพฤติกรรมการตัดหินโบราณได้ชัดขึ้น มากกว่าภาพจำคนโบราณก้มหน้าก้มตา เฉาะๆๆๆ แล้วก็ยกหินไป หลายขั้นตอนที่ว่ามีอะไรบ้าง ตามอ่านการแปลความ และเชิญชวนชม ภาพหลักฐานประกอบการมโนฯ กันต่อได้เลยครับ

1) คงใส่กันยับ ที่หน้าเหมือง

กลุ่มตัวละครแรก ที่พบทางตอนใต้ของพื้นที่สำรวจ คือ กองหินทรายหลากหลายขนาด ตั้งแต่ยังเป็น หินโผล่ (outcrop) ของหินทรายธรรมชาติเดิมๆ ในทางธรณีวิทยา ก้อนหินทรายขนาดเท่าตู้เย็น ที่บางส่วนถูกเฉาะเป็นร่องๆ บางส่วนแตกหัก และบางส่วนหลุดออกมาเป็นก้อนเรียบร้อยแล้ว (แต่ยังไม่ค่อยเข้าทรงเหลี่ยม)

หลักฐานการเซาะหินเป็นร่อง ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ บริเวณที่ผู้เขียนประเมินว่าคือพื้นที่หน้าเหมือง จากการคาดคะเนด้วยสายตา บล็อกของการตัด จะมีขนาดใหญ่กว่าก้อนหินที่นำไปใช้ในการสร้างปราสาท ประเมินว่าน่าจะเซาะไว้เผื่อเหลือเผื่อขาด ให้กระบวนการถัดไป ได้มีโอกาสลบเหลี่ยมสร้างมุม
กลุ่มรูปภาพนี้ คือหินที่ถูกตัดออกมาในลักษณะเป็นแนวยาว ซึ่งแตกต่างจากบล็อกหินก่อสร้าง จากภาพก่อนหน้านี้ โดยทั้งหมดถูกนำมาวางรวมอยู่ในที่เดียวกัน จากขนาดเฉพาะตัว และการถูกรวบรวมเป็นกลุ่ม ผู้เขียนประเมินว่าน่าจะถูกนำไปใช้เป็นส่วนอื่นนอกเหนือจากผนังกำแพงทั่วไป (ซึ่งเมื่อเทียบขนาด อนุมานความเป็นไปได้ว่า น่าจะเป็นส่วนของทับหลัง)

ส่วนนี้ผู้เขียนแปลความว่า น่าจะเป็นพื้นที่ด่านหน้าหรือหน้าเหมืองหินในวันนั้น กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ทำงานในพื้นที่นี้ มีหน้าที่ตัดย่อยหินธรรมชาติก้อนใหญ่ ให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ บางส่วนที่แตกหักไม่ได้รูป ก็ถูกขนย้ายไปไว้ด้านข้างของหน้าเหมือง ไม่ให้ขวางทางการทำงาน ชวนมโนฯ ว่าวันวานเมื่อพันกว่าปีก่อน เสียงฆ้อนกระแทกสิ่ว เสี่ยงสิ่วกระเทาะหิน คงดังป๊งเป๊ง เป๊งป๊าง ก้องกังวานกันไปทั่วป่า

สภาพของเศษหินขนาดใหญ่ ที่ถูกกองเรียงรายเอาไว้ข้างพื้นที่หน้าเหมืองหิน บางส่วนแสดงความเป็น ก้อนสี่เหลี่ยมแต่แตกหัก และบางส่วนเป็นเศษกระเทาะขนาดใหญ่ สืบเนื่องจากตำแหน่งและภาพหลักฐานนี้ ผู้เขียนจึงแปลความว่า น่าจะเป็นหินส่วนที่ใช้ไม่ได้ และถูกลำเลียงออกจากหน้าเมือง (ต้องบอกก่อนว่า สภาพแบบนี้ ไม่ใช่ลักษณะการพุพังของหินทรายในทางธรรมชาติหรือทางธรณีวิทยา)

ในส่วนของลีลาการตัดหิน การที่ได้เห็นหินแบบไม่มีต้นไม้ใบหญ้าบดบัง ทำให้ผู้เขียนสามารถหอบรูปมาโชว์ผู้อ่านได้ว่า ในการแยกหินเดิมให้เป็นก้อนๆ ช่างตัดหินเขาใช้เคล็ดวิชาอยู่ 2 กระบวนท่า คือ 1) เซาะหินให้เป็นร่องยาว กว้างและลึกขนาด 10 เซนติเมตร (ไม่เซาะลึกตลอดแนว) จากนั้น 2) ใช้สิ่วตอกรูลงไปต่อ โดยเว้นระยะการตอกสิ่วแต่ละรู ห่างกันประมาณ 20 เซนติเมตร ซึ่งเหตุผลของการเซาะร่อง 10 X 10 นำไปก่อนนั้น ผู้เขียนยังงงๆ อยู่เหมือนกันว่า เพื่ออะไร ? ช่วยให้หินแตกเป็นแนวตรงขึ้นเหรอ ? อันนี้ไม่รู้จริงๆ แต่ก็มีให้เห็นอยู่บ้าง ที่พี่แกเล่นสิ่วลงเลยตั้งแต่แรก ก็เลยยิ่งงงไปใหญ่ ว่าหินก้อนไหนควรเซาะร่องก่อน แล้วก้อนไหนใส่สิ่วลงได้เลย เอาเป็นว่า ณ ห้วงเวลานี้ ก็ปล่อยให้เรื่อง เซาะร่องกับรูสิ่ว เก็บไว้เป็นความลับประดับโลกไปก่อน เดี๋ยวรู้แล้ว ผู้เขียนจะมาเขียนเติมให้อีกทีนะครับ 🤘

ภาพหลักฐานการเซาะหินให้เป็นร่อง ขนาด 10 X 10 เซนติเมตร และมีอยู่หลายร่อง ที่เห็นรูสิ่ว เตรียมพร้อมจะตอกทะลวงลงไปต่อ
รูปนี้ผู้เขียนอยากให้เห็นหลักฐานของ 1) ร่องเดิมที่ถูกเซาะจากด้านบน และ 2) รูสิ่ว ที่ถูกตอกกระแทกลงมาต่อในภายหลัง จะเห็นได้ว่า แรงกระแทกจากสิ่ว ทำให้หินแตกเป็นรัศมีวงกลมออกจากรูสิ่ว อย่างเห็นได้ชัด นี่จึงเป็นหลักฐานที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ไม่ใช่รูหนู ไม่ใช่รูปู แต่เป็นรูที่เกิดจากแรงกระแทกของสิ่วววววววว 😅
ประมวลภาพจากหินหลายก้อน ที่แสดงหลักฐาน 1) การเซาะเป็นร่องไปก่อน และ 2) มีรูสิ่วทะลวงต่อเป็นระยะๆ ตามลงไป หากอยากลำดับการเกิดก่อน-หลัง เราก็สามารถบอกได้ว่า ด้านไหนคือด้านบน และด้านไหนคือด้านล่างของชั้นหินธรรมชาติเดิมๆ

อีกประเด็นน่าสนใจ ที่อาจจะเป็นคำถามคาใจของใครหลายคนคือ เมื่อเซาะร่องลงไปแล้ว การตัดด้านล่างให้หินแตกออกจากหินฐานทำกันยังไง ? เพราะผู้เขียนก็เคยได้ยินสมมุติฐานกึ่งวิชาการที่พยายามจะอธิบายว่า พอเซาะร่องด้านข้างจนได้ความหนาของหินตามต้องการแล้ว คนโบราณคงจะก่อไฟสุมหินให้ร้อน แล้วก็ใช้น้ำราดทันที เชื่อว่าหินจะกระเทาะหลุดออกมาจากฐานหิน ได้เหมือนกับมะม่วงฟ้าลั่น

แต่สำหรับเหมืองหินนี้ ผู้เขียนพบว่าก็ไม่มีอะไรซับซ้อนซ่อนเงื่อน เพราะจากหลักฐานก็บ่งชี้ชัดๆ ว่า ก็แค่ใช้สิ่วเสียบเฉียงๆ เอียงๆ รอบทั้ง 4 ด้าน ที่ระดับฐานหิน ตอกสิ่วไล่ไปเรื่อยๆ หินก็หลุดออกมาเอง

ภาพบนคือหลักฐานของรูสิ่ว ที่ตอกเอียงลงไปด้านข้าง เพื่อตัดฐานหินออกจากกัน ส่วนภาพด้านล่างคือภาพรูสิ่วที่เห็นได้ชัดสุดในพื้นที่ จะเห็นว่ารูเป็นรูปสี่เหลี่ยมเป๊ะ ห่างกันประมาณ 10-20 เซนติเมตร

2) แผนกขึ้นรูป แต่งหยาบ

นอกจากพื้นที่หน้าเหมืองหิน ที่เผยให้เห็น 2 กระบวนท่าโบราณของการสกัดหินออกมาจากหินฐานธรรมชาติ เขยิบออกมาจากหน้าเหมืองทางทิศเหนือประมาณ 10 เมตร ยังพบ แนวสันเนิน (ridge) เป็นแนวยาว ขนานไปกับหน้าเหมือง ซึ่งสันเนินที่ว่า เกิดจากการกองทับถมกันของเศษหินที่มีเหลี่ยมมุมมาก ขนาดเท่าฝ่ามือ ผู้เขียนจึงแปลความว่า พื้นที่นี้ น่าจะเป็นโซนที่รับหินต่อมาจากหน้าเหมือง ซึ่งหินอาจจะยังไม่เข้ารูปเข้าทรง และนำมาสกัดให้อยู่ในเชฟสี่เหลี่ยมให้ได้มากที่สุด เรียกว่าเป็น แผนกขึ้นรูป หรือ แผนกแต่งหยาบ ว่างั้นเถอะ

ประมวลภาพ แนวสันเนิน (ridge) ของเศษหินที่มีเหลี่ยมมุมมาก ขนาดเท่าฝ่ามือ ที่ถูกกองเป็นแนว ถัดออกมาจากหน้าเหมืองหิน
เศษหินที่มีเหลี่ยมมุมมาก ขนาดเท่าฝ่ามือ ที่ถูกกองเป็นแนว ถัดออกมาจากหน้าเหมืองหิน

3) แผนก QC เก็บงานละเมียด

ไปต่อกันเลยนะครับ ห่างออกมาจากโซนแต่งหยาบไม่ไกลมากนัก ผู้เขียนยังพบพื้นที่ชวนสงสัยอีก 3-4 จุด อยู่ห่างกันประมาณเมาท์มอยข้ามจุดกันรู้เรื่อง โดยในแต่ละจุด กินพื้นที่ประมาณ 5 X 5 เมตร ซึ่งภายในพื้นที่นั้น พบกองเศษหรือสะเก็ดหินทราย ขนาดเท่าเหรียญห้าเหรียญบาท กองอยู่เป็นหย่อมๆ และมีหินขนาดพอดีนั่ง ถูกวางล้อมอยู่ 2-3 ก้อน จริงหรือไม่ไม่รู้ เพราะผู้เขียนก็ไม่ได้อยู่นั่งดูในวันนั้น แต่สภาพที่เห็น ชวนให้ผู้เขียนมโนฯ ไปได้ว่า 3-4 โซน ที่ว่านี้ น่าจะเป็นพื้นที่ของแผนก QC หินในรายละเอียด ที่มีคนงาน 2-3 คน นั่งเก้าอี้หินล้อมวง คอยกระเทาะ เก็บเหลี่ยมเก็บมุมหินให้เรียบละเมียด ก่อนที่จะส่งไปยังแผนกโลจิสติกส์ เพื่อขนย้ายหินไปยังที่หมายต่อไป

(ภาพบน) ก้อนหินขนาดพอดีนั่ง ที่ถูกวางล้อมกองสะเก็ดหินทราย ที่มีเนื้อเหมือนกับหินในพื้นที่ (ภาพอื่นๆ) เศษสะเก็ดหินทรายที่กองอยู่เป็นกระหย่อมๆ อยู่ 3-4 จุด ถัดออกมาจากโซนที่ผู้เขียนแปลว่าเป็นโซนแต่งหยาบ

ทิศทางการขนหิน

นอกจากนี้ ห่างออกไปทางทิศเหนือ จากพื้นที่ผลิตหินประมาณ 100-200 เมตร ด้วยวิสัยทัศน์การมองเห็นที่กว้างขึ้นหลังจากป่าถูกเผา ผู้เขียนพบหินก้อนสี่เหลี่ยมวางกระจัดกระจายอยู่พอสมควร จึงแปลความว่า นี่น่าจะเป็นทิศทางการขนย้ายหิน ออกจากเหมือง ที่แผนกโลจิสติกส์อาจจะทำหล่นเรี่ยราดไว้ ก่อนคาราวานหินจะถูกเคลื่อนย้ายไปที่ไหนสักที ซึ่งจากทิศขึ้นเหนือที่ว่า เบื้องต้นก็สอดคล้องกับตำแหน่งของปราสาทหินพนมรุ้ง ที่ห่างออกไปประมาณ 25 กิโลเมตร หินเรี่ยราดนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานน้ำจิ้มเบาๆ ที่ช่วยใบ้เราว่า เหมืองหินแห่งนี้ น่าจะเป็นแหล่งผลิตหินทรายเพื่อนำไปใช้ในการสร้างปราสาทหินพนมรุ้ง รวมถึงปราสาทเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่ในละแวกนั้น

มัดรวมหมู่มวลก้อนหินทรายสี่เหลี่ยม ที่หล่นเรี่ยราด อยู่ทางทิศเหนือของเหมืองหิน

แถม

ข้อสังเกตของแถมสุดท้าย ที่ผู้เขียนขออนุญาตฝากไว้ในบทความนี้คือ ท่ามกลางเศษซากแนวร่องที่หินถูกเซาะ หรือก้อนหินที่ถูกตัดออกมาแล้ว หินบางก้อนถูกเซาะแนวร่อง อย่างเป็นการเป็นงาน แต่ความกว้างหรือความห่างระหว่างร่องที่เซาะ เหมือนจะไม่เหมาะที่จะนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์ เพราะระยะห่างระหว่างร่องมันแคบเกินไป บางครั้งร่องมีแนวเอียงตัดขวางกัน ซึ่งผู้เขียนก็แอบตงิดอยู่ในใจว่า จะเซาะเล่นกันไปทำไม ให้เมื่อยตุ้ม หรือนี่จะเป็นหินฝึกหัดให้ช่างตัดหินหน้าใหม่ ได้ลองฝึกวิชา จะผิดจะถูกยังไง ก็อย่าถือสาหาความกันนะครับ อันนี้ผู้เขียนก็แค่พยายามคิดตั้งประเด็นไปเรื่อย 😊

มีหินหลายก้อน ที่ถูกเซาะเป็นร่องอย่างจริงจัง แต่พื้นที่ระหว่างร่องแคบมาก จนเหมือนกับว่า ถ้าหินถูกแยกออกจากกันแล้ว ก็แทบจะเอาไปใช้อะไรไม่ได้เลยในการก่อสร้าง

ย่อก่อนแยกย้าย

สรุปผลประกอบการ การออกสำรวจเมืองหินทรายโบราณ บริเวณริมอ่างเก็บน้ำห้วยเมฆา อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า 1) ใช้สิ่วเซาะร่องนำไปก่อน 2) ลงสิ่วตอกกลางร่องเพื่อแยกหินออกเป็นก้อน 3) หินที่เสียไม่ได้รูป กวาดออกไปด้านข้างให้พ้นหน้าเหมือง 4) หินที่พอใช้ได้ถูกนำมาสกัดหยาบเพื่อให้เข้ารูปทรงที่ต้องการ 5) มีการเก็บรายละเอียดพื้นผิวหินให้เรียบ และสุดท้าย 6) มีการขนย้ายออกจากหน้าเหมืองไปทางทิศเหนือ มุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกับปราสาทหินพนมรุ้ง ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดที่ผู้เขียนสรุปมานี้หากมองในมิติของแผนผังแผนที่ ผู้เขียนสรุปไว้ดังรูปด้านล่างนะครับ

โปรยไว้ก่อนว่า จากภาพด้านล่าง ยังมีตัวละครที่น่าสนใจอีก 2 ตัวละคร ที่สำรวจพบในพื้นที่นี้ คือ 1) แนวกองหินที่ล้อมรอบเป็นวงกลม และ 2) ลานกลุ่มหิน ขอติดหนี้ไว้ เอาไปเล่าในบทความหน้าเนาะ เดี๋ยวจะเอียนหินกันเสียก่อน

เอวัง ก็เป็นด้วยประการฉะนี้ครับผม 😊

(ภาพบน) อ่างเก็บน้ำห้วยเมฆา และพื้นที่ข้างเคียง แสดงตำแหน่งพื้นที่ศึกษาที่ผู้เขียนและทีมเข้าไปสำรวจ และเล่าในเรื่องนี้ (ภาพล่าง) สเก็ตคร่าวๆ ตำแหน่งของตัวละครต่างๆ ที่ถูกเล่าในเรื่องนี้

ทีมสำรวจ : เกชา เจริญศิริมณี; ชลิดา เจริญศิริมณี; สมยศ ภัยหลบลี้

Share: