เดินสำรวจแหล่งโบราณคดีมาก็หลายที่ ผู้เขียนก็เพิ่งเคยประสบ ลีลาการพบแหล่งโบราณคดีกันในแบบนี้ สืบเนื่องจากการค้นพบและนำเสนอ แหล่งที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนงานถลุงเหล็กโบราณ ในพื้นที่บ้านเขาดินใต้ อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์ (เพิ่มเติม : พบหอพักหนุ่มสาวโรงงาน ถลุงเหล็กโบราณ ที่บุรีรัมย์) เพื่อที่จะเพิ่มตัวละครในการร้อยเรื่องราว จึงมีการวางแผนสำรวจเพิ่มเติม ในพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งระหว่างการสุ่มสำรวจในละแวก ผู้เขียนพบต้นตาลล้ม 3 ต้น โดยบังเอิญ ซึ่งแว๊บแรกที่มองไป พบว่าที่โคนรากต้นตาล อุดมไปด้วยเศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก มากแบบผิดปกติ
ใต้ตอต้นตาล
หลังจากนั่งละเมียด พินิจพิเคราะห์ตอต้นตาลอยู่ซักพัก พบว่าเศษภาชนะดินเผาส่วนใหญ่ มีความหลากหลาย ทั้งลวดลาย สไตล์หม้อ และขนาด มีทั้งฝาผอบ ทั้งชิ้นส่วนหม้อไหที่แตกหัก รวมไปถึงเศษอิฐเผาสีส้มจำนวนมาก ที่กึ่งกระจุกกึ่งกระจายอยู่ภายในรากต้นตาล
เมื่อผนวกกับประสบการณ์ที่ผ่านๆ มา การแปลความทางโบราณคดีจึงเริ่มต้นแบบง่ายๆ ที่ว่า หากเป็นพื้นที่อยู่อาศัยภาชนะดินเผาน่าจะกระจัดกระจายอย่างเบาบาง ในพื้นที่กว้างๆ ซึ่งในกรณีนี้ผู้เขียนประเมินว่า ภาชนะดินเผาที่พบกระจุกตัวหนาแน่น เกินกว่าที่จะเป็นเศษหม้อไห ที่แตกกระจายภายในบ้านเรือน แต่น่าจะเป็นแหล่งผลิตภาชนะดินเผา ซึ่งเมื่อประกอบรวมกับหลักฐานเศษอิฐสีส้มที่พบ ผู้เขียนคาดว่าน่าจะเป็นส่วนของเตา ที่ใช้เผาหม้อไห ในการผลิตภาชนะเครื่องปั้นในอดีต
ต้นตาลอยู่ไหน เตาเผาหม้อไหก็อยู่ที่นั่น
คำถามถัดมาที่น่าสนใจคือ ต้นตาลทั้ง 3 ต้นนี้ มาจากไหน ? เพราะหากเรารู้ว่าดั้งเดิม ต้นตาลยืนต้นอยู่ตรงไหน โรงงานผลิตหม้อไหก็น่าจะอยู่ตรงนั้น ส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนประเมินไม่ได้ในช่วงลงสนาม เพราะในละแวกนั่นเท่าที่ตาเห็น มีการปรับพื้นที่เพื่อใช้ในการอยู่อาศัยของคนปัจจุบันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขุดบ่อและทำสวนในละแวกนั้น ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงต้องไล่ตามหาตำแหน่งที่มาของต้นตาล จากภาพถ่ายดาวเทียมแบบบ้านๆ ในแอพ Google Earth ซึ่งท่ามกลางสวนยางพาราที่หนาแน่น (สีเขียวอ่อนในภาพ) จากแสงเงาที่สูงชะลูด ที่เห็นได้ในภาพถ่ายดาวเทียม ปี พ.ศ. 2566 ผู้เขียนจึงสรุปว่า ก่อนหน้านี้มีต้นตาล 3-5 ต้น อยู่ตรงนั้นนั่นแหละ ไม่ได้เคลื่อนย้ายมาจากที่ไหน
จากตำแหน่งดั้งเดิมของต้นตาลที่พบ เมื่อนำมาประมวลร่วมกับข้อมูลภูมิประเทศที่แสดงระดับสูง-ต่ำ จากรูปด้านล่าง เส้นสีเหลือง คือ เส้นชั้นความสูง (contour) ที่ระดับ 185 เมตร และ 190 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล บ่งชี้ว่าต้นตาลหรือแหล่งเตาเผาโบราณ เดิมวางตัวอยู่บริเวณริมเนินเตี้ยๆ ติดกับ ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) ของธารน้ำขนาดย่อม ในพื้นที่ ชวนมโนนึกภาพในอดีตวันนั้นว่า คนโบราณน่าจะมีเจตนาอยู่อาศัยหรือใช้พื้นที่บริเวณริม กรือชายขอบพื้นที่สูง ที่ติดกับที่ราบเรียบน้ำท่วมถึง ซึ่งช่วยหลบเลี่ยงภาวะน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก แต่ก็อยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำลำคลอง เพื่ออาศัยอาบน้ำอาบท่าหรือกินดื่ม
ซึ่งจากสไตล์การชอบอยู่ริมเนินติดที่ราบ ที่ได้จากตำแหน่งเตานี้ ผู้เขียนเดาต่อว่า หากเดินลัดเลาะไปตามเส้นชั้นความสูง 185 เมตร ก็มีโอกาสสูง ที่จะพบร่องรอยกิจกรรมของคนโบราณอยู่ เอาไว้มีโอกาส จะแวะไปเดินสำรวจอีกครั้ง ถ้าพบอะไรเพิ่มเติม จะมาเล่าให้ฟังกันอีกทีนะครับ
อายุเตา = อายุชุมชน
จากการเทียบเคียงเศษภาชนะดินเผาที่ติดอยู่ตามรากต้นตาล ด้วยสายตา พบว่ามีความละม้ายคล้ายกันกับสไตล์ภาชนะดินเผา ที่ผลิตจาก กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาโบราณในพื้นที่ อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์ ที่มักเกาะกลุ่มกันอยู่ตามลุ่มน้ำเสว ห่างออกไปทางตอนใต้ จากตอต้นตาลประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 16-19 (ประมาณ 700-1,000 ปี มาแล้ว) ดังนั้นจึงเชื่อว่า เตาเครื่องปั้นดินเผาใต้ต่อต้นตาล ที่บ้านเขาดินใต้ ก็น่าจะมีอายุเท่าๆ กัน
ประกอบกับการพบเนินจากการทับถมกันของ เศษตระกัน หรือ ขี้แร่ (slag) ที่เหลือจากการถลุงเหล็ก อยู่ประชิด ติดอยู่กับตอต้นตาลนี้ ซึ่ง อิสราวรรณ อยู่ป้อม (2553) กำหนดอายุกิจกรรมถลุงเหล็กดังกล่าว ว่าเคยผลิตอยู่ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 18 (ประมาณ 800 ปี มาแล้ว) ผู้เขียนจึงแปลความว่า ในห้วเวลาประมาณ 700-1,000 ปีก่อน พื้นที่บ้านเขาดินใต้ มีการประกอบกิจการ ทั้งผลิตหม้อไหและถลุงเหล็ก ไปพร้อมๆ กัน บ่งชี้ว่าพื้นที่แห่งนี้น่าจะมีความเจริญ และมีประชาชนอาศัยอยู่พอสมควร
และนี่ก็คือเรื่องราวสั้นๆ ทางโบราณคดี ที่ถูกร้อยเรียงมาจากหลักฐานตั้งต้น “ตอต้นตาล” แห่งบ้านเขาดินใต้ อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์
เพิ่มเติม : มีนิคมอุตสาหกรรมเหล็กร้าง แอบอยู่กลางป่าชายขอบบุรีรัมย์
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth