สำรวจ

พบหอพักหนุ่มสาวโรงงาน ถลุงเหล็กโบราณ ที่บุรีรัมย์

ในการเปิดเวย์สำรวจใหม่ในแต่ละพื้นที่ บ่อยครั้งที่นักโบราณคดี พบหลักฐานกิจกรรมการทำงานของมนุษย์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการทำเหมืองหินก่อสร้าง (หินทราย-ศิลาแลง) เตาผลิตเครื่องปั้นดินเผา หรือ กองเนินตระกัน (ขี้แร่) ที่บ่งชี้ถึงกิจกรรมการถลุงโลหะ ซึ่งหลักฐานเหล่านี้ ล้วนเป็นตัวบ่งชี้การ (เคย) มีอยู่ของกลุ่มคน หรือชุมชน ณ สถานที่นั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเก็บงานให้ละเมียด ปิดจ๊อบแบบละเอียด ๆ คำถามที่ว่า กลุ่มคนเหล่านี้ พวกเขากินอยู่กันยังไง หลับนอนกันตรงไหน คืออีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ที่นักโบราณคดีนั้นใฝ่ฝันที่จะได้คำตอบ เพราะในทางมานุษยวิทยา ข้อมูลการกิน ขี้ อี้ นอน จะช่วยเติมเต็มเรื่องราว เชื่อมโยงภาพอดีตในวันนั้น ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การค้นพบพื้นที่อยู่อาศัยของคนโบราณ ที่จะเล่าในบทความนี้ เกิดจากการสำรวจและแปลความหมายเชิงพื้นที่จาก ภาพถ่ายทางอากาศ (aerial photo) ซึ่งถ่ายไว้ในปี พ.ศ. 2519 จาก กรมแผนที่ทหาร ภายใต้กรอบพื้นที่ศึกษา อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์ โดยจากการแปลความภาพถ่ายทางอากาศในรายละเอียด พบว่าพื้นที่อำเภอบ้านกรวดส่วนใหญ่เป็น 1) ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) ซึ่งชาวบ้านปัจจุบันใช้เป็นพื้นที่ทำนาปลูกข้าว และ 2) ที่ราบลูกฟูก (undulating area) ซึ่งชาวบ้านใช้ทำไร่หรือสวนยางพารา โดยท่ามกลางพื้นที่ดังกล่าว ผู้เขียนได้ตรวจพบลักษณะของ คันดินคล้ายคันนา แต่มีความกว้างและความสูงมากกว่าคันนาทั่วไป ในพื้นที่บ้านเขาดินใต้ ต. บ้านกรวด อ. บ้านกรวด โดยแนวคันดินดังกล่าวมีความกว้างถึง 3 เมตร ซึ่งกว้างกว่าคันนาปัจจุบันทั่วไป (กว้างไม่เกิน 0.5 เมตร) ในพื้นที่ข้างเคียง และสูง 0.5-1 เมตร ซึ่งจากการสอบถามชาวบ้านในละแวกนั้น ให้ข้อมูลตรงกันว่า แต่เดิมคันดินสูงกว่า 2 เมตร เต็มไปด้วยจอมปลวกและต้นไม้รกทึบ ซึ่งต่อมาชาวบ้านได้ช่วยกันถากถางคันดินให้สะอาดขึ้น และปรับคันดินให้ต่ำลง เพื่อใช้เป็นถนนในการทำการเกษตร

(ภาพบน) ภาพถ่ายดาวเทียม พ.ศ. 2566 (ที่มา : Google Earth) (ภาพล่าง) ภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ. 2519 (ที่มา : กรมแผนที่ทหาร) บริเวณ บ้านเขาดินใต้ อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์

1) ขอบเขตชุมชน

จากการลงสำรวจพื้นที่เพื่อพิสูจน์ทราบ และรังวัดแนวคันดินในรายละเอียด พบว่าแนวคันดินดังกล่าว วางตัวครอบคลุมพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้าอย่างสมบูรณ์แบบ ประกอบด้วย คันดินด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออกยาว 200 เมตร และคันดินด้านทิศใต้ยาว 330 เมตร ส่วนทิศเหนือของพื้นที่สี่เหลี่ยมพื้นผ้า กำหนดเขตจากธารน้ำธรรมชาติที่ไหลผ่าน ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า ห้วยเสว คำนวณพื้นที่ครอบคลุมได้ 66,000 ตารางเมตร หรือ 41 ไร่ โดยประมาณ

เพิ่มเติม : ตำแหน่งแนวคันดินในปัจจุบัน

จากการเปรียบเทียบขนาดพื้นที่ 41 ไร่ ดังกล่าว กับเมืองโบราณทรงสี่เหลี่ยมอื่นๆ เช่น เมืองนครราชสีมาและเมืองเชียงใหม่ คันดินรูปทรงสี่เหลี่ยมบ้านเขาดินใต้ มีขนาดเล็กกว่าเมืองนครราชสีมาและเมืองเชียงใหม่ 25-40 เท่า ผู้เขียนจึงนิยามในมิติของขนาดพื้นที่ว่าน่าจะเป็น ชุมชนโบราณ มากกว่าที่จะเป็น เมืองขนาดใหญ่ และคาดการณ์จำนวนประชากรที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ประมาณ 300-500 คน ซึ่งตัวเลขประชากรประเมินจากการปรับเทียบกับงานวิจัยในอดีต (Stark, 2006)

(ภาพล่าง) ผลการประเมินพื้นที่ใช้สอย ภายในกรอบคันดินสี่เหลี่ยม บริเวณบ้านเขาดินใต้ อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์ เปรียบเทียบกับ (ภาพบน) ผังเมืองทรงสี่เหลี่ยมในประเทศ เช่น เมืองนครราชสีมา และเมืองเชียงใหม่

2) ห้วงเวลาการใช้พื้นที่

ผลการสำรวจและตรวจเก็บหลักฐานทางโบราณคดีทั้งพื้นที่ภายนอกและภายในแนวคันดิน ไม่พบหลักฐานชี้ชัดใดๆ บริเวณพื้นที่ภายนอก แต่พบเศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก กระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่ 41 ไร่ ภายในแนวคันดินดังกล่าว ซึ่งเศษภาชนะทั้งหมดมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่บ่งชี้แหล่งผลิตจาก กลุ่มอุตสาหกรรมเตาเครื่องปั้นดินเผาโบราณ อ. บ้านกรวด ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 5-10 กิโลเมตร กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 16-19 (ประมาณ 700-1,000 ปี มาแล้ว)

(ภาพบนซ้าย) แนวคันดินด้านทิศตะวันออก และสภาพพื้นที่โดยรอบ (ภาพบนขวา) ห้วยเสว ธารน้ำธรรมชาติที่ไหลด้านทิศเหนือของพื้นที่สำรวจ (ภาพล่างซ้าย) เปรียบเทียบขนาดคันนา ในปัจจุบัน และแนวคันดินทางทิศตะวันออก (ภาพล่างขวา) บางส่วนของเศษภาชนะดินเผาที่พบกระจายตัวอย่างหนาแน่น บริเวณพื้นที่ภายในกรอบแนวคันดิน

นอกจากนี้ยังพบเศษอิฐจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ ซึ่งช่วยบ่งชี้ได้ว่าภายในคันดินดังกล่าว เดิมน่าจะเคยมีอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทำด้วยอิฐ ซึ่งน่าสนใจและควรมีการศึกษาวิจัยในรายละเอียดต่อไปในอนาคต

3) ตัวละครข้างเคียง

นอกจากนี้ จากการขยายพื้นที่สำรวจโดยรอบแนวคันดิน ออกไปในรัศมี 5 กิโลเมตร พบว่า ห่างออกไปประมาณ 1.3 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของ ปราสาทหนองตะโก และทางทิศตะวันออก ห่างออกไปประมาณ 1.4 กิโลเมตร พบเนินขนาดใหญ่ ที่เกิดจากการทับถมกันของ เศษตระกัน หรือ ขี้แร่ (slag) ที่เหลือจากการถลุงเหล็ก โดย อิสราวรรณ อยู่ป้อม (2553) กำหนดอายุกิจกรรมถลุงเหล็กดังกล่าว เคยดำเนินอยู่ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 18 (ประมาณ 800 ปี มาแล้ว) ผู้เขียนจึงแปลความว่า แนวคันดินหรือชุมชนโบราณ ที่สำรวจพบในครั้งนี้ มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับ แหล่งอุตสาหกรรมถลุงเหล็กโบราณ ทั้งในมิติของพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน และในมิติของห้วงเวลาการใช้พื้นที่ ที่คาบเกี่ยวกัน

เพิ่มเติม : มีนิคมอุตสาหกรรมเหล็กร้าง แอบอยู่กลางป่าชายขอบบุรีรัมย์

ภาพถ่ายดาวเทียม พื้นที่รอยต่อ บ้านเขาดินใต้-บ้านหนองตะโก ต. บ้านกรวด อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์ แสดงตำแหน่ง ปราสาทหนองตะโก แนวคันดิน และเนินตะกรันเหล็ก
(ภาพบน) สภาพพื้นที่บริเวณเนินตะกรันเหล็ก บ้านเขาดินใต้ ที่เกิดจากการทับถมของกองขี้แร่ อันเนื่องมาจากการถลุงเหล็ก (ภาพล่างซ้าย) หน้าตาเตาถลุงเหล็ก ที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี ในพื้นที่เนินตระกัน (ที่มา : อิสราวรรณ อยู่ป้อม, 2553) (ภาพล่างขวา) ตัวอย่างของตระกันเหล็ก ที่ได้จากการถลุง (ที่มา : สุทธิกานต์ คำศิริ, 2565)

4) การจัดการน้ำ

นอกเหนือจากแนวคันดินทั้ง 3 ด้าน ทางทิศตะวันตก-ทิศตะวันออก-ทิศใต้ โดยมีลำน้ำห้วยเสว เป็นแนวขอบเขตธรรมชาติทางทิศเหนือ ผลจากการแปลความหมายภาพถ่ายทางอากาศเพิ่มเติม ยังพบหลักฐานของแนวคันดินกว้าง 3 เมตร ยาวประมาณ 600 เมตร วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ (ดูภาพด้านล่างประกอบ) โดยมีลำน้ำห้วยเสวที่ไหลหักงอ ล้อไปกลับแนวคันดิน ก่อนที่จะไหลทะลุผ่านแนวคันดินดังกล่าว ลงสู่ท้ายน้ำและกวัดแกว่งตามธรรมชาติเหมือนเดิมต่อไป

(ภาพบน) ภาพถ่ายทางอากาศดั้งเดิม พ.ศ. 2519 (ภาพล่าง) ผลการแปลความหมายแสดง 1) แนวคันดินขอบเขตชุมชนโบราณ (แนวสีเหลือง) 2) แนวคันดินเพื่อการบริหารจัดการน้ำ (แนวสีแดง) และ 3) ลำธารธรรมชาติ ห้วยเสว (เส้นสีฟ้า)

ในทางธรณีวิทยา ธารน้ำที่ไหลในที่ราบจะกวัดแกว่งอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งเรียกในทางวิชาการว่า ธารน้ำโค้งตวัด (meandering stream) อย่างไรก็ตาม การที่ธารน้ำในที่ราบ ไหลเป็นแนวเส้นตรง แถมยังหักงอในพื้นที่นี้ เป็นตัวบ่งชี้ว่า 1) คันดินดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมานานพอสมควร (โบราณ) พอที่จะทำให้ธารน้ำเดิม เปลี่ยนทิศทางการไหลไปแบบผิดธรรมชาติ และ 2) ธารน้ำห้วยเสวนี้ กำลังถูกควบคุม ให้อยู่ในร่องในรอยตามความปรารถนาของคนโบราณ ซึ่งจากกรณีตัวอย่างของ “ถนนพระร่วง” ในละแวกพื้นที่เมืองสุโขทัย และกรณีตัวอย่างอื่นๆ ผู้เขียนสรุปได้ว่า คันดินดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อ 1) ชะลอน้ำบ่าทุ่ง ในช่วงฤดูน้ำหลาก และ 2) บริหารจัดการน้ำ ให้ไหลในช่องหรือรูที่ต้องการ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตรท้ายน้ำให้มากที่สุด

และผลพลอยได้ จากการพบและนิยามคันดินนี้ว่าใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ผู้เขียนก็ตั้งสมมุติฐานเพิ่มเสริมได้ว่าบริเวณท้ายคันดินจัดการน้ำนี้คือ พื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำของชุมชนโบราณแห่งนี้

รายละเอียดเพิ่มเติม กรณีศึกษาการบริหารจัดการน้ำของเมืองสุโขทัย ผู้อ่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ในบทความ : “ถนนพระร่วง” สุโขทัย คืออะไรกันแน่ ?

จากทั้งหมดทั้งมวลที่เล่ามานี้ จึงสรุปผลการสำรวจและวิเคราะห์ได้ว่า แนวคันดินล้อมรอบพื้นที่กรอบสี่เหลี่ยมพื้นผ้า 41 ไร่ ดังกล่าว คือที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนหรือชุมชนโบราณ จำนวนประมาณ 300-500 คน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ในช่วง 700-1,000 ปีก่อน (พุทธศตวรรษที่ 16-19) และ อาจเป็นกลุ่มคนที่ประกอบกิจกรรมการถลุงเหล็กในอดีต โดยมีการทำนาปลูกข้าว บริเวณที่ราบทางตอนเหนือของกรอบสี่เหลี่ยม โดยมีการบริหารจัดการน้ำ ผ่านแนวคันดิน

แผนที่ภูมิประเทศ แสดงการกระจายตัวของเมืองโบราณ (สามเหลี่ยมสีขาว) ที่อยู่ในห้วงเวลาและในละแวกเดียวกันกับเมืองสุโขทัย เส้นสีแดง คือ แนวถนนพระร่วงช่วง สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย เส้นสีน้ำเงิน คือ ถนนพระร่วงช่วง สุโขทัย-กำแพงเพชร วงกลมสีแดง คือ จุดที่ภูมิประเทศเริ่มเปลี่ยนจากต่ำลงเรื่อยๆ เป็นสูงขึ้น หากน้ำไหลจากกำแพงเพชรหรือศรีสัชนาลัย เข้ามาสู่สุโขทัย

ทีมสำรวจ : ชลิดา เจริญศิริมณี, สมยศ ภัยหลบลี้, สันติ ภัยหลบลี้

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: