ถึงแม้ว่าการคมนาคมในปัจจุบัน จะมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ แต่หากย้อนกลับไปเมื่อซักประมาณ 100 ปีก่อน เมืองไทยก็มีตัวเลือกอยู่ไม่มาก นอกเหนือจากการคมนาคมทางเรือที่ดูฟูฟ่าในช่วงนั้น แต่ทางบกก็เห็นจะมีแค่ ม้า หรือ วัว-ควายเทียมเกวียน ที่พอจะเป็นสรณะได้ เพราะจากประวัติที่สืบย้อนกลับไป รถยนต์คันแรกของไทย คือของ จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ในช่วงรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ ๕
ดังนั้นถึงแม้ว่าจะเกิดไม่ทัน แต่ก็พอเดาได้ไม่ยากว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีก่อน ถนนคอนกรีต ถนนลาดยาง หรือแม้กระทั่ง ถนนลูกรัง คงจะไม่มีให้เห็น แต่เส้นทางการเดินทางที่ควรจะเป็นก็คือ ทางเกวียน ที่เคยเป็นยานพาหนะหลักของคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณ
สมัยสุโขทัย วรรณคดี-พงศาวดาร หลายเรื่องกล่าวถึงเกวียน เช่น เรื่องพระร่วงส่งส่วยน้ำ คนไทย ใช้เกวียนบรรทุกส่วยไปบรรณาการ ขอม
1) กำเนิดทางเกวียน
จากสภาพพื้นที่ หรือ ภูมิลักษ์ (landform) เฉพาะตัว ที่พอจะหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ประกอบกับคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บ่งชี้ว่า ทางเกวียนที่คนโบราณใช้ในการสัญจรไป-มา จะมีลักษณะเป็น ร่องลึกขนาดกว้างพอประมาณ กว้างกว่าความกว้างของเกรียนอยู่นิดหน่อย ซึ่งร่องลึกนั้นจะถูกขนาบทั้ง 2 ข้าง ไว้ด้วยเนินดินเตี้ยๆ บ้าง เนินสูงชันบ้าง ตามแต่ละสถานที่
สาเหตุการเกิดร่องลึก ตามทางเกวียนแบบนี้ แปลความตามหลักธรณีวิทยาว่า น่าจะเกิดจากการที่น้ำหนักบรรทุกของเกรียนที่ส่งผ่านลงมาสู่ล้อเกวียน บดขยี้เส้นทางเดิมซ้ำๆ ทำให้ดินตะกอนตลอดเส้นทางมีขนาดเล็กเท่าดินหรือโคลน ซึ่งจะถูกพัดพา หรือฟุ้ง หรือแขวนลอยไปได้ง่ายกับมวลน้ำ ที่มักจะไหลหลากมาในหน้าฝน และยิ่งนับวัน ตะกอนในร่องทางเกวียนก็จะถูกพัดพาไปได้ง่ายขึ้น จากความเร็วน้ำที่เร็วขึ้น เพราะร่องลึกชัดเจนขึ้น ทำให้น้ำถูกบีบให้ไหลแคบขึ้น และเร็วขึ้น ซึ่งเมื่อกระบวนการนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ผ่านล้อเกวียนที่บดย้ำไปย้ำมา จึงมีโอกาสทำให้เส้นทางเกวียนกลายเป็นร่องลึก สูงท่วมหัว ประกอบกับต้นไม้ที่ปกคลุมทั้งสองข้างทางอย่างหนาแน่น ยิ่งช่วยสร้างบรรยากาศ ให้ดูขนพองสยองเกล้ามากยิ่งขึ้น ทางเกวียนที่ยังหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน จึงเป็นเสมือนซีนหนังผี ที่ทุกคนไม่อยากเดินเข้าใกล้ แม้ในเวลากลางวันแสกๆ
ทางเกวียน ในฤดูฝนจะเป็นทางน้ำไหล บางครั้งดูคล้ายคลองคนขุด นักวิชาการบางท่านจึงอาจจะแปลความว่าเป็นคลองชลประทานโบราณ มากกว่าเส้นทางสัญจร แต่วัตถุประสงค์หลักจริงๆ ของภูมิลักษณ์แบบนี้คือ เส้นทางคมนาคมด้วยเกวียน ซึ่งก็ใช้ประโยชน์เป็นทางระบายน้ำได้ด้วยเช่นกันในฤดูน้ำหลาก
2) ภูมินาม
ภูมินามวิทยา (Toponymy) คือ ศาสตร์การศึกษาชื่อของสถานที่ เกี่ยวกับที่มาและความหมาย ที่อาจจะสื่อถึงลักษณะภูมิประเทศ สภาพแวดล้อม รวมถึงสภาพสังคมและวัฒนธรรมของสถานที่แห่งนั้นในอดีต ดังจะเห็นว่าชื่อหมู่บ้านในหลายๆ ที่ของไทย ล้วนแต่บอกใบ้หรือสื่อเป็นนัย ถึงลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของชุมชน เช่น โนน โคก กุด พลอย ช้าง เบ้า เหล็ก แร่ ซึ่งชื่อหรือนามเหล่านี้ช่วยให้เข้าใจที่มาหรือรากเง้าของ ภูมิบ้านนามเมือง ในแต่ละสถานที่ได้ดียิ่งขึ้น
เพื่อที่จะสืบหาร่องรอยชุมทาง หรือเส้นทางคมนาคมทางบกโบราณผ่านพาหนะ เกวียน ชื่อหมู่บ้านทั่วประเทศได้ถูกสืบค้นและคัดกรอง คำที่มีความหมายสัมพันธ์กับเกวียน ทั้งคำไทยทั่วไป และคำเฉพาะภาษาถิ่น ที่ถูกเรียกใช้ในแต่ละภูมิภาค เช่น ภาคกลาง เรียก เกวียน (วงกลมเหลือง) ภาคอีสาน เรียก โสก โสกทางไปนา โสกทางเกวียน หรือชาวอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เรียกว่า กรอก โกรก เช่น กรอกพ่อใหญ่เหงียม โกรกงัวตาย (ที่มา : Waranart Jongyotha) (วงกลมแดง) ภาคเหนือ เรียก ฮ่อม หรือ ล้อ (วงกลมเขียว) ส่วนภาคใต้ เรียก ทางพลี หลวน ส่วนชาวภูเก็ต เรียก ทางเชี้ย (ที่มา : Pornsak Laokijpaisal) (วงกลมฟ้า) เป็นต้น
“เทียวจนทางเป็นโสก” เป็นวลีที่คนอีสานมักพูดเพื่อที่จะสื่อว่า ท่องเที่ยวเยอะ เดินทางบ่อย จนทางเป็นโสกหรือร่องลึก หรือ
“แปนปานทางไปนา” คือวลีที่จะเปรียบว่า แบนมาก เหมือนกับทางเกวียนหรือทางไปนา
ผลจากการคัดกรองชื่อหมู่บ้านกว่า 18,000 หมู่บ้าน ทั่วประเทศ พบว่าชื่อหมู่บ้านที่สัมพันธ์กับความ เกวียน ตามภูมิภาคต่างๆ ดังนี้
- เกวียน 45 หมู่บ้าน ตัวอย่างเช่น บ้านทางเกวียน ต. บ้านปทุม อ. สามโคก จ. ปทุมธานี, บ้านคลองท่าเกวียน ต. แหลมฟ้าผ่า อ. พระสมุทรเจดีย์ จ. สมุทรปราการ, บ้านหนองเกวียนหัก ต. พุคา อ. บ้านหมี่ จ. ลพบุรี, บ้านศาลาเกวียน ต. หันตรา อ. พระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น
- โสก 147 หมู่บ้าน ตัวอย่างเช่น บ้านโสกน้ำขาว ต. ห้วยแก้ง อ. กุดชุม จ. ยโสธร, บ้านโสกยาง ต. หนองแสง อ. วาปีปทุม จ. มหาสารคาม, บ้านโสกแวง ต. หนองยอง อ. ปากคาด จ. หนองคาย เป็นต้น
- ฮ่อม 14 หมู่บ้าน ตัวอย่างเช่น บ้านห้วยฮ่อม ต. บ้านจันทร์ อ. แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่, บ้านฮ่อมต้อ ต. ลี้ อ. ลี้ จ. ลำพูน, บ้านห้วยป่าฮ่อม ต. ทุ่งข้าวพวง อ. เชียงดาว จ. เชียงใหม่ เป็นต้น
- ล้อ 28 หมู่บ้าน ตัวอย่างเช่น บ้านท่าล้อ ต. ดอยหล่อ อ. ดอยหล่อ จ. เชียงใหม่, บ้านขัวล้อ ต. จำปาโมง อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี, บ้านโคกล้อ ต. โชคเหนือ อ. ลำดวน จ. สุรินทร์ เป็นต้น
- พลี 48 หมู่บ้าน ตัวอย่างเช่น บ้านช่องพลี ต. อ่าวนาง อ. เมืองกระบี่ จ. กระบี่, บ้านทุ่งพลี ต. กะเปียด อ. ฉวาง จ. นครศรีธรรมราช, บ้านพลีควาย ต. พิจิตร อ. นาหม่อม จ. สงขลา เป็นต้น
- หลวน 3 หมู่บ้าน ตัวอย่างเช่น บ้านหลวนช้าง ต. ควนปริง อ. เมืองตรัง จ. ตรัง, บ้านช่องหลวน ต. ปันแต อ. ควนขนุน จ. พัทลุง, บ้านโปหลวน ต. ถ้ำทะลุ อ. บันนังสตา จ. ยะลา เป็นต้น
ซึ่งตำแหน่งของหมู่บ้านที่สัมพันธ์กับ เกวียน ตามภูมิภาคต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในทางภูมิศาสตร์ ที่สื่อเป็นนัยว่า น่าจะชุกชุมไปด้วยเกวียน หรือเป็นเส้นทางเกวียน เส้นทางการค้าในอดีต
3) ภูมิสารสนเทศ
จากตำแหน่งหมู่บ้านที่มีภูมินามของคำว่า เกวียน โสก กรอก โกรก ฮ่อม ล้อ ทางพลี หลวน ผู้วิจัยนำมาวิเคราะห์โครงข่ายการเชื่อมต่อกันของแต่ละหมู่บ้านด้วยเทคนิค ภูมิสารสนเทศ (GIS) โดยพิจารณาจากข้อมูล ภูมิประเทศ (Digital Elevation Model, DEM) ที่เหมาะสมต่อการเดินทางเป็นหลัก ผลการวิเคราะห์ที่ได้แสดงตามเส้นสีขาวในภาพด้านล่าง ซึ่งแปลความแบบพอเป็นไปได้ว่า น่าจะเป็นเส้นทางที่ใช้สัญจรจากเกวียนสู่เกวียนในอดีต โดยมีรายละเอียดประมาณนี้
1) ภาคเหนือ เส้นทางเกรียนส่วนใหญ่พยายามที่จะติดต่อกันระหว่างแอ่ง โดยอาศัยร่องเขาแคบเป็นเส้นทางหลัก ซึ่งหากต้องการลงมาสู่ที่ราบลุ่มภาคกลางตอนบน เครือข่ายทางเกวียนที่เป็นไปได้เลือกใช้อยู่ 2 เส้นทาง คือ 1) จากจังหวัดลำปางลงมาสู่จังหวัดตาก ทับเส้นทางเดียวกันกับ ทางหลวงหมายเลข 1 : ถนนพหลโยธิน ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และ 2) จากจังหวัดแพร่ลงมาสู่สุโขทัย เป็นเส้นเดียวกันกับ ทางหลวงหมายเลข 11 : พิษณุโลก−เด่นชัย
2) ภาคอีสาน เส้นทางเกรียนส่วนใหญ่จะอยู่เหนือขึ้นไปจากแม่น้ำมูล โดยมีโครงข่ายยึดโยงกันอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ สิ่งที่สังเกตเห็นได้จากผลการวิเคราะห์คือ มีเส้นทางสายหลักล้อไปกับลำน้ำมูลในแนวตะวันออก-ตะวันตก และหากเกรียนจากที่ราบสูงอีสาน ต้องการเชื่อมต่อกับที่ราบลุ่มภาคกลางและภาคตะวันออกของไทย เส้นทางที่เป็นไปได้มี 3 กรณี คือ
- ช่องเขาพังเหย (ลงมาภาคกลาง) เส้นทางจาก ตำบลโป่งนก ทางตอนเหนือของอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ลงสู่อำเภอภักดีชุมพล ชัยภูมิ โดยอาศัย ช่องเขาพังเหย เป็นร่องหลักในการเดินทาง
- ช่องสำราญ (ลงมาภาคกลาง) เชื่อมต่อที่ราบสูงอีสานของ ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ลงสู่ตำบลลำสนธิ อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี
- ช่องเขาสายตะกู ช่องเขาตาเมือน (ลงมาภาคตะวันออก) เป็นช่องหรือเส้นทางหลักที่จะเชื่อมต่อโครงข่ายทางเกวียน ระหว่างที่ราบสูงอีสานสู่ชุมชนต่างๆในเขมร รวมทั้งภาคตะวันออกของไทย
เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลการวิเคราะห์จากคอมพิวเตอร์ ไม่พยายามที่จะเชื่อมต่อโครงข่ายเส้นทางเกวียน จากภาคอีสานสู่ที่ราบลุ่มภาคกลาง โดยใช้ช่องเส้นทางบริเวณ เขื่อนลำตะคอง หรือ ทางหลวงหมายเลข 2 : ถนนมิตรภาพ ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าการวิเคราะห์นี้ จะไม่ได้อิงหรือยึดเกณฑ์ความหนาแน่นของพื้นที่ป่ามาใช้ในการพิจารณา แต่จาก ความไม่อยากเดิน ในเส้นทางดังกล่าว ก็อาจจะเป็นสาเหตุตั้งต้น ที่ทำให้พื้นที่ ดงพยาเย็น ในปัจจุบัน จึงเป็นป่าทึบในอดีต ดังที่เรียกว่า ดงพญาไฟ พื้นที่ต้องห้ามในตำนาน ที่ไม่มีใครอยากเข้าไปไกลในกาลก่อน
3) ภาคกลาง เส้นทางเกวียนที่วิเคราะห์ได้ เชื่อมประสานกันเป็นโครงข่าย ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ไม่มีภูมิประเทศควบคุมอย่างเด่นชัด ทำให้มีอิสระในการเดินเส้นทาง ตามปัจจัยอื่นๆ มากกว่าภูมิประเทศ
4) ภาคตะวันออก โครงขายทางเกวียนส่วนใหญ่ จะหนาแน่นอยู่ทางตอนเหนือของภาคตะวันออก ในแถบจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว ล้อไปกับ เส้นทางหลวงหมายเลข 33 : หินกอง–อรัญประเทศ และมีบางเส้นทางที่แตกแขนงลงมาทางใต้ เข้าสู่จังหวัดระยองและจันทบุรี
5) ภาคใต้ เส้นทางเกวียน หรือ ทางพลี หรือ หลวน ในภาคใต้ ส่วนใหญ่วิ่งอยู่ทางตะวันออกของคาบสมุทร เลาะล้อไปกับแนวชายฝั่งด้านอ่าวไทย ไล่ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ลากยาวไปจนถึง ที่ราบริมชายฝั่งทะเลสาปสงขลา จะมีแค่บางเส้นทางที่ทิ่มเขาไปทางด้านตะวันตกขอบคาบสมุทรเป็นระยะๆ ในแถบภาคใต้ตอนล่าง ตัวอย่างเช่น ทางหลวงหมายเลข 401 : กระบี่-สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
4) บางส่วนของการพิสูจน์ทราบ
จากการนำเสนอผลการวิเคราะห์เส้นทางเกวียนในเบื้องต้นในเพจ มิตรเอิร์ธ – mitrearth แฟนเพจบางส่วน ได้กรุณาให้คำแนะนำและข้อมูลเพิ่มเติมว่า สิ่งที่วิเคราะห์ได้มีความสอดคล้องกับหลักฐานที่พบ ในพื้นที่ของตน ซึ่งช่วยยืนยันความสมเหตุสมผล ของผลการวิเคราะห์ได้พอสมควร
FB Narongsak Tongtanee : ตามเส้นทางสีขาวที่วิเคราะห์ไว้ ซึ่งผ่านแถวบ้านผมครับ ตอนสร้างฝายผู้รับเหมาได้ทำการขุดดินในแม่น้ำออกเพื่อวางตอม่อ ในบริเวณเก่าที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า ท่าล้อ (ส่วนที่ตื้นที่สุดของแม่น้ำที่สามารถนำล้อเกวียนผ่านข้ามแม่น้ำไปได้) ทำให้ได้เจอกับล้อเกวียนแบบโบราณ (รูป ก) ซึ่งผมสันนิฐานว่าน่าจะมีอายุมากกว่าล้อเกวียนที่เป็นซี่ๆ ครับ, Narongsak Tongtanee : เชียงตุง (รูป ข)
FB Nattawut Wongta : เส้นจากศรีสัชนาลัย สุโขทัย เข้าเถิน ลำปาง ผ่านเส้นทางเวียงมอก ปัจจุบันยังมีแนวกำแพงด่านเก่าเหลืออยู่ครับ ทางสัญจรก็ยังใช้การอยู่
FB Wisoot Sinoot : มีเส้นทางหนึ่งในสุโขทัย ทางเกวียนผ่านทำนบหินศิลาแลงธรรมชาติ (รูป ค) ที่ขวางลำห้วยเหมือนฝายน้ำล้นที่เกวียนข้ามห้วยได้ทุกฤดู ล้อเกวียนกัดศิลาแลงเป็นร่องลึก …ร่องลึกคู่ขนานระยะกงล้อ มีการเปลี่ยนแนวจากร่องเดิม มีให้เห็นจำนวนมาก …สอดคล้องกับนักประสัติศาสตร์ท่านหนึ่งที่เคยกล่าวว่า สุโขทัยเคยเป็นชุมชนบนเส้นทางค้าขายโบราณที่เชื่อมต่ออาณาจักร ติดทะเลอ่าวเมาะตะมะ
เกร็ดความรู้
แถบอำเภอปากท่อ ราชบุรี คนจีนแต้จิ๋ว เรียกร่องพวกนี้ว่า บ้วนเชี่ยง (แปลว่า หมื่นช้าง) เพราะเชื่อว่าเป็นเส้นทางช้างเดินจนทำให้เป็นร่อง และมักใช้ประโยชน์ในการอพยพหนีภัยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ที่มา : Krit Khanittanans และ Tommy S. Grebennikov)
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ยังถือว่าเป็นการวิเคราะห์ในเบื้องต้น ด้วยการรวมศาสตร์ที่เรียกว่า ภูมินามวิทยา (Toponymy) ของชื่อหมู่บ้านที่สื่อถึงเกวียน ผนวกกับ ศาสตร์ ภูมิสารสนเทศ (GIS) ซึ่งผู้วิจัยหวังว่าข้อมูลชุดนี้จะช่วยเป็นแนวทาง ในการสำรวจวิจัยร่องรอยทางเกวียน ร่องรอยทางวัฒนธรรม และร่องรอยการติดต่อ-ค้าขายในอดีต เพิ่มเติมกันอีกต่อไปในอนาคต สำรวจกันต่อครับ มีอะไรเพิ่มเติมจะมาเล่าให้ฟัง 🙂