ราชมรรคา : วิเคราะห์และเรียบเรียงโดย : สุทธิกานต์ คำศิริ, สุรพล เทวัญรัมย์ และ สันติ ภัยหลบลี้
ด้วยสภาพภูมิประเทศหรือภูมิศาสตร์ในปัจจุบัน ภาคอีสานของไทยอยู่สูงกว่าที่ราบลุ่มต่ำของประเทศกัมพูชา ซึ่งนอกจากระดับความสูงโดยรวมที่แตกต่างกันแล้ว ชายแดนของทั้ง 2 พื้นที่ ยังถูกขวางกั้นตลอดแนวกว่า 300 กิโลเมตร ไว้ด้วย เทือกเขาพนมดงรัก ที่ทอดตัวยาวในแนวตะวันตก-ตะวันออก จากจังหวัดนครราชสีมาไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ของประเทศไทย
ในทางธรณีวิทยา เชื่อว่าเทือกเขาพนมดงรัก เริ่มยกตัวขึ้นตั้งแต่สมัย มหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) ช่วงที่แผ่นเปลือกโลก (เก่า) อินโดจีน (Indochina) และ แผ่นเปลือกโลก (เก่า) ฉานไทย (Shan-Thai) หรือ ชิบูมาสุ (Sibumasu) วิ่งเข้ามาชนกัน ซึ่งผลจากการชนกันทำให้ส่วนของแผ่นเปลือกโลกอินโดจีนเกิดการคดโค้งโก่งงอ และทำให้อีสานเป็นเหมือนแอ่งกระทะ ซึ่งขอบแอ่งกะทะด้านล่างก็คือเทือกเขาพนมดงรักนั่นเอง โดยชั้นหินของแผ่นเปลือกโลกอินโดจีนหรือเทือกเขาพนมดงรักจะวางตัวเชิดหรือเหินขึ้นไปทางทิศใต้ และเกิดการผุพังของหินตามรอยแตกเป็นระยะๆ พัฒนาตัวเป็นร่องเขาในแนวเหนือ-ใต้ ขวางกับแนวเทือกเขาพนมดงรัก หรือที่เรียกในภาษาชาวบ้านว่า ช่องอานม้า และจากการสำรวจในทางภูมิประเทศพบว่าช่องเขาหรือช่องอานม้าเหล่านี้มีทั้งหมด 9 ช่อง ได้แก่ 1) ช่องเขาแสง 2) ช่องเขาตากิ่ว 3) ช่องเขาสายตะกู 4) ช่องเขาตาเมือน 5) ช่องเขากร่าง 6) ช่องเขาจอม 7) ช่องเขาพระพลัย 8) ช่องเขาตาเฒ่า และ 9) ช่องเขาบก ซึ่งจากรายงานสำรวจทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า ช่องอานม้าทั้ง 9 ช่องนี้ เป็นเส้นทางที่คนโบราณใช้เดินทางสัญจรไปมา ระหว่างที่ราบสูงทางตอนเหนือและที่ราบลุ่มต่ำทางตอนใต้
ราชมรรคา
จากจารึกที่มีบันทึกไว้ที่ปราสาทพระขรรค์ ทางฝั่งประเทศกัมพูชา เล่ากันว่าจากศูนย์กลางความรุ่งเรืองในสมัยนั้น ปราสาทนครวัดนครธม มีการสร้างเส้นทางหลักหรือเส้นทางหลวงกระจายออกไปตามที่ต่างๆ โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นทางตะวันออกเชียงใต้ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทางตะวันออกรวมทั้งขึ้นไปทางทิศเหนือ ซึ่งในกรณีของเส้นทางขึ้นเหนือ ก็คือเส้นทางที่เดินทางจากปราสาทนครวัดนครธม ไปสู่ปราสาทหินพิมาย ในจังหวัดนครราชสีมาปัจจุบัน ซึ่งนักวิชาการทางด้านโบราณคดีตั้งชื่อเส้นทางนี้เอาไว้ว่า ราชมรรคา (The Royal Road) โดยจารึกยังกล่าวไว้ว่า ตลอดเส้นทางราชมรรคาจะมี ธรรมศาลา (Dharmsala) หรือ บ้านมีไฟ จำนวน 17 แห่ง วางไว้เป็นระยะๆ เพื่อเป็นที่พักให้แก่คนเดินทาง โดยในปัจจุบันก็มีการค้นพบแล้วทั้งหมดและยังพบหลักฐานสะพานที่ก่อด้วยศิลาแลงอีกมากมายตามแนวเส้นทาง โดยเฉพาะในฝั่งประเทศกัมพูชา ในขณะที่ทางฝั่งประเทศไทยพบเพียงแนวที่มีลักษณะบ่งบอกว่ามีการใช้เป็นทางสัญจรไปมา แต่ไม่พบสิ่งปลูกสร้างที่บ่งชี้ว่าเป็นถนนอย่างเด่นชัด
ชุมชนโบราณ
จากการศึกษางานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าแหล่งโบราณคดีที่ล้อมรอบด้วยคูน้ำ หรือ คูเมือง (moat) ในภาคอีสานของไทย ที่มีการระบุไว้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 (Damrong Rajanubhap, HRH Prince, 1995) และเริ่มเป็นที่สนใจของนักวิชาการทั้งนักโบราณคดีและนักธรณีวิทยามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยจากหลายกลุ่มวิจัยในเวลาต่อมาบ่งชี้ว่า คูเมืองดังกล่าวส่วนมากมีวิวัฒนาการการเจริญเติบโตและขยายตัวอยู่ในช่วง ยุคเหล็ก (iron age) (ประมาณ 500 ก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 600)
และในปัจจุบันมีการค้นพบคูเมืองในภาคอีสานของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจเพิ่มเติมอย่างเป็นระบบด้วยข้อมูล โทรสัมผัส (remote sensing) ไม่ว่าจะเป็น รูปถ่ายจากจากดาวเทียม (sattelite image) หรือ ภาพถ่ายทางอากาศ (aireal photo) Reilly และ Scott (2015) สรุปและนำเสนอว่ามีคูเมืองทั้งสิ้น 297 คูเมือง กระจายตัวอยู่ทั่วภาคอีสาน โดยคูเมืองส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้กับ แม่น้ำมูล และ แม่น้ำชี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของย่านนี้
ทำไมต้องช่องนี้ ?
อย่างที่บอกว่า ตลอดแนวเทือกเขาพนมดงรักมีช่องให้เดินขึ้นเดินลงถึง 9 ช่อง แต่ทำไมเส้นทางสายราชมรรคาจึงต้องมาฮอตฮิต นิยมกันจังในช่องนี้ แน่นอนว่าถ้าเทียบระยะกระจัดจากนครวัดนครธมถึงพิมาย แนวนี้แหล่ะน่าจะใกล้สุด และเพื่อต้องการจะตอกย้ำว่า นอกจากระยะขจัดพิมาย-นครวัดนครธมแล้ว การมีอยู่ของชุมชนโบราณก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เส้นทางนี้ใช้มากที่สุด โดยเพื่อที่จะพิสูจน์ทราบสมมุติฐานดังกล่าว ผู้วิจัยได้ลองตรวจวัดระยะทางจากชุมชนโบราณทั้ง 297 ชุมชน ที่มีอยู่ในภาคอีสานจนถึงช่องเขาทั้ง 9 ช่อง และนำมาหาความน่าจะเป็นของระยะทางจากชุมชนถึงช่อง ซึ่งผลการคำนวณก็แสดงอยู่ในรูปด้านล่าง
จากรูปแสดงให้เห็นว่า ช่องเขาแสง ช่องเขาตากิ่ว ช่องเขาสายตะกู ช่องเขาตาเมือน ช่องเขากร่างและช่องเขาจอม มีระยะทางจากพื้นที่ศึกษาในช่วง 120 ถึง 160 กิโลเมตร มากที่สุด โดยในจำนวนนี้ 3 ช่องเขา มีความเหมาะสมมากที่สุด ได้แก่ 1) ช่องเขาสายตะกู 2) ช่องเขาตาเมือน และ 3) ช่องเขากร่าง และจากข้อมูลในช่วงระยะทาง 80-120 กิโลเมตร จึงสรุปว่า ช่องเขาตาเมือน และ ช่องเขากร่าง มีความเหมาะสมสูงสุด ในมิติขอระยะทางที่สั้นที่สุด
แน่นอนว่าคงไม่ใช่แค่ระยะทางเพียงอย่างเดียว ที่จะส่งผลต่อการเลือกใช้หรือความนิยมของช่องเขา ความจริงอาจจะมีปัจจัยอื่น เช่น ทรัพยากร (เกลือ พิมาย) หรือผลิตภัณฑ์ผลิตผลที่อยู่ในแถบนั้นระหว่างทาง ซึ่งในบริเวณ ช่องเขาตาเมือน และ ช่องเขากร่าง อยู่ใกล้กับ อำเภอบ้านกรวด ของ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็น แหล่งถลุงเหล็กและแหล่งเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ระดับอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่านี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เส้นทางสายราชมรรคา เลือกที่จะตัดผ่านแนวนี้ แต่ที่แน่ๆ จากผลการคำนวณถัวๆ คร่าวๆ ในบทความนี้ ชี้ให้เห็นเป็นนัยๆ ว่า
คนโบราณแถบนี้ !!! ถ้าไม่ฉลาดก็อาจจะขี้เกียจ (เดิน) 🙂
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth