เรียบเรียงโดย : ภวัต วัฒนจารีกูล และ สันติ ภัยหลบลี้
ไฟป่า (wildfire) ตามคำจำกัดความของ Brown และ Davis (1973) คือ ไฟที่ปราศจากการควบคุม ลุกลามอย่างอิสระจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเศษซากต้นไม้และวัชพืชที่แห้งตาย รวมถึงพืชสดที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยไฟป่าแตกต่างจากอัคคีภัยประเภทอื่นๆ คือไฟป่าจะกินพื้นที่กว้าง ลุกลามรวดเร็ว และคาดเดาการเกิดได้ยาก ซึ่งไฟป่าจะเกิดขึ้นได้ต้องมีครบทั้ง 3 ปัจจัย ที่เอื้อต่อการเกิดไฟ หากขาดปัจจัยใดๆ ไฟป่าจะไม่เกิดขึ้นหรือหากเกิดจะดับในเวลาอันสั้น ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัย เรียกว่า สามเหลี่ยมแห่งไฟ (fire triangle) ได้แก่
- เชื้อเพลิง คือ อินทรียสารทุกชนิดที่ติดไฟได้ ทั้งต้นไม้ กิ่ง ก้าน ตอ กอ รวมไปถึง ดินอินทรีย์ (peat soil) และ ชั้นถ่านหินที่อยู่ใต้ผิวดิน (coal seam)
- ออกซิเจน หมายถึง ก๊าซที่เป็นองค์ประกอบหลักของอากาศโดยทั่วไป ซึ่งโดยปกติในป่าจะมีออกซิเจนกระจายอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่อาจผันแปรได้บ้างตามความเร็วและทิศทางลม
- ความร้อน คือ แหล่งกำเนิดความร้อนโดยแบ่งได้ 2 ประเภท คือ แหล่งความร้อนตามธรรมชาติ เช่น 1) ฟ้าผ่า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดไฟป่าตามธรรมชาติ 2) การเสียดสีกันของกิ่งไม้ พบได้ในผืนป่าที่มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นและมีสภาพอากาศร้อน และ 3) ภูเขาไฟปะทุ ซึ่งการเกิดไฟป่ามักจะเป็นผลที่ตามมาหลังจากการปะทุของภูเขาไฟ
นอกจากนี้แหล่งความร้อนที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ ได้แก่
- การเก็บของป่า ซึ่งมักจะมีการจุดไฟเผาให้พื้นป่าโล่งเพื่อความสะดวก หรือให้แสงสว่างในระหว่างการเดินผ่านป่าในเวลากลางคืน
- การเผาไร่ เกษตรกรบางกลุ่มมักจะเผาไร่เพื่อกำจัดวัชพืชและเศษพืชหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกในฤดูถัดไป ซึ่งการเผาไร่ในบางครั้งทำให้ลุกลามจนเกิดไฟป่า
- การปศุสัตว์ บางครั้งมีการลอบจุดไฟเผาป่าให้โล่ง เพื่อให้เกิดทุ่งหญ้าสำหรับเป็นแหล่งอาหารสัตว์
- การล่าสัตว์ โดยจุดไฟไล่ให้สัตว์หนีออกจากที่ซ่อน หรือจุดไฟเพื่อให้แมลงบินหนีไฟ นกชนิดต่าง ๆ จะบินมากินแมลง แล้วดักยิงนก หรือจุดไฟเผาทุ่งหญ้า เพื่อให้หญ้าใหม่แตกระบัด ล่อให้สัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น กระทิง กวาง กระต่าย มากินหญ้า แล้วดักรอยิงสัตว์
ซึ่งจากงานวิจัยของ Balch และคณะ (2017) บ่งชี้ว่าสาเหตุการเกิดไฟป่าในประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี ค.ศ. 1992-2012 โดยส่วนใหญ่เป็นไฟป่าที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมมนุษย์ทั้งสิ้น
ประเภทของไฟป่า
หากพิจารณาระดับการเผาไหม้ในแนวดิ่งของต้นไม้เป็นเกณฑ์ Brown และ Davis (1973) แบ่งประเภทของไฟป่า ดังนี้
1) ไฟใต้ดิน (ground fire) คือ ไฟป่าที่เกิดจากไฟไหม้อินทรียวัตถุบนพื้นผิวดินและต่อมาลุกลามลงไปถึงใต้ดิน มักเกิดในป่าที่มีอัตราการย่อยสลายอินทรียวัตถุต่ำ ทำให้มีอินทรียวัตถุสะสมเป็นชั้นหนาอยู่บนผิวดิน การไหม้มีลักษณะเป็นเปลวไฟ มีควันน้อย สร้างความเสียหายให้แก่รากต้นไม้ ไฟใต้ดินจำแนกได้ 2 ประเภท คือ
- ไฟใต้ดินสมบูรณ์แบบ (true ground fire) ไฟไหม้เฉพาะชั้นใต้ดินอย่างเดียว แทบไม่มีเปลวไฟและควันปรากฏขึ้นบนผิวดิน อยู่ในพื้นที่อาจไม่ทราบได้ว่าเกิดเหตุไฟไหม้
- ไฟกึ่งผิวดินกึ่งใต้ดิน (semi-ground fire) ไฟไหม้ให้เห็นทั้งบนพื้นผิว และมีการไหม้ในส่วนชั้นอินทรียวัตถุที่อยู่ใต้ดิน
2) ไฟผิวดิน (surface fire) คือ ไฟที่ไหม้ลุกลามไปตามผิวดิน โดยเผาไหม้เชื้อเพลิงบนพื้นป่า ได้แก่ ใบไม้ กิ่งก้านไม้แห้ง เป็นไฟป่าทั่วไปที่พบได้แทบทุกที่ทั่วโลก รวมถึงไฟป่าส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไฟผิวดินไม่ทำให้ต้นไม้ใหญ่ตายทันที่ แต่มักจะทำให้การเจริญเติบโตของต้นไม้ลดลง คุณภาพของเนื้อไม้ลดลง ความแข็งแรงของต้นไม้ลดลง
3) ไฟเรือนยอด (crown fire) คือ ไฟที่ไหม้ลุกลามจากยอดของต้นไม้หรือไม้พุ่มต้นหนึ่งไปยังยอดของต้นไม้หรือไม้พุ่มอีกต้นหนึ่ง มักเกิดบริเวณป่าสนในเขตหนาว ซึ่งไฟป่าประเภทนี้มีอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมากที่สุด เพราะยอดไฟสูงทำให้เสี่ยงต่อการถูกไฟคอก ไฟเรือนยอดแบ่งย่อยได้เป็น 2 ประเภท คือ
- ไฟเรือนยอดที่ต้องอาศัยไฟผิวดินเป็นสื่อ (dependent crown fire) คือ ไฟเรือนยอดที่ต้องอาศัยไฟที่ลุกลามไปตามผิวดินเป็นตัวนำเปลวไฟขึ้นไปสู่เรือนยอดต้นไม้ มักเกิดในบริเวณที่ต้นไม้ไม่หนาแน่น
- ไฟเรือนยอดที่ไม่ต้องอาศัยไฟผิวดินเป็นสื่อ (running crown fire) เกิดในป่าที่มีต้นไม้ที่ติดไฟได้ง่ายและมีเรือนยอดแน่นทึบติดกัน เช่นในป่าสนเขตอบอุ่น การลุกลามจะเป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงจากเรือนยอดหนึ่งไปสู่อีกเรือนยอดหนึ่งที่อยู่ข้างเคียงได้โดยตรง จึงเกิดการลุกลามไปตามเรือนยอดอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ลูกไฟจากเรือนยอดจะตกลงบนพื้นป่า ก่อให้เกิดไฟผิวดินร่วมด้วย
นอกจากนี้ไฟป่ายังสามารถจำแนกตามบริเวณการไหม้และทิศทางลมได้ 7 ส่วน ได้แก่
- หัวไฟ (head) เป็นส่วนไฟป่าที่ลุกลามได้เร็วและมีเปลวไฟยาวมากที่สุด มักลุกลามไปตามความลาดชันของพื้นที่และทิศทางลม จึงเป็นส่วนที่รุนแรงและอันตรายมากที่สุด
- หางไฟ (rear) เป็นส่วนของไฟที่ไหม้ไปทางตรงกันข้ามกับหัวไฟหรือสวนกับทิศทางลม ทำให้เป็นไฟที่ลุกลามช้าและดับได้ง่าย
- ปีกไฟ (flanks) เป็นส่วนที่ลุกลามขยายออกด้านข้างของหัวไฟ มักลุกลามตามหัวไฟ มีความรุนแรงน้อยกว่าหัวไฟ แต่รุนแรงมากกว่าหางไฟ
- นิ้วไฟ (finger) เป็นส่วนที่ลุกลามแนวแคบ ๆ โดยยื่นออกไปจากตัวไฟหลัก
- ขอบไฟ (edge) เป็นขอบเขตของไฟป่านั้น ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นช่วงที่ไฟกำลังลุกไหม้ หรือดับแล้ว
- ง่ามไฟ (bay) เป็นส่วนของขอบไฟที่อยู่ระหว่างนิ้วไฟ มีการลุกลามช้ากว่านิ้วไฟ
- ลูกไฟ (spot fire) เป็นส่วนที่ไหม้ลุกนำหัวไฟ สามารถทำให้เกิดไฟป่าใหม่อีกระลอกได้
ปัจจัยส่งผลต่อพฤติกรรมไฟป่า
พฤติกรรมไฟป่า (wildland fire behavior) คือ ลักษณะการลุกลามและขยายตัวของไฟป่าภายหลังจากการสันดาป ซึ่งจะเป็นไปตามสภาวะแวดล้อมในขณะนั้น ทำให้ไฟป่าที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป ซี่งปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมไฟป่านั้นมี 3 ปัจจัยหลัก คือ
1) ชื้อเพลิง (fuel) ได้แก่ ใบไม้แห้ง กิ่งก้าน หญ้าแห้ง และท่อนไม้ เป็นต้น โดยลักษณะเชื้อเพลิงที่ส่งผลต่อพฤติกรรมไฟป่า ได้แก่
- ขนาดเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงขนาดใหญ่จะเผาไหม้ช้ากว่าเชื้อเพลิงขนาดเล็ก เชื้อเพลิงขนาดเล็กจึงส่งผลให้ไฟไหม้และไฟลามได้เร็วกว่าเชื้อเพลิงขนาดใหญ่
- ปริมาณเชื้อเพลิงและความหนาแน่น เชื้อเพลิงมีปริมาณมากจะเกิดไฟที่มีความรุนแรงมากกว่ากรณีที่มีเชื้อเพลิงน้อย
- ความชื้นของเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงมีความชื้นสูงจะติดไฟยากกว่าชื้อเพลิงที่มีความชื้นต่ำ ซึ่งจากงานวิจัยของ Heikkila และคณะ (1993) พบว่าความชื้นเชื้อเพลิงส่งผลต่อการลุกลามของไฟป่า 3 กรณี คือ
- ความชื้นต่ำกว่า 5% ไฟป่าที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดเชื้อเพลิงขนาดใหญ่หรือเล็ก อัตราการลุกลามจะเท่ากัน
- ความชื้นระหว่าง 5%-15% ไฟป่าจากเชื้อเพลิงขนาดเล็กจะลุกลามเร็วกว่าไฟป่าจากเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ และ
- ความชื้นมากกว่า 15% ไฟป่าที่ไหม้เชื้อเพลิงขนาดใหญ่จะยังคงลุกไหม้และลุกลามต่อไปได้ ในขณะที่ไฟที่ไหม้เชื้อเพลิงขนาดเล็กจะดับลงด้วยตัวเอง
2) สภาพอากาศ (weather) การเกิดไฟป่ามีปัจจัยด้านสภาพอากาศเกี่ยวข้อง ดังนี้
- ปริมาณหยาดน้ำฟ้า (precipitation) จากงานวิจัยของ Chen และคณะ (2014) บ่งชี้ว่าสภาวะแห้งแล้ง หรืออัตราการตกของฝนต่ำ ส่งเสริมให้เกิดไฟป่าในมณฑลยูนนานเพิ่มมากขึ้น
- ความชื้นสัมพัทธ์ (relative humidity) ความชื้นสัมพัทธ์สูงจะเกิดการติดไฟยากกว่าสภาวะที่ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ
- อุณหภูมิ (temperature) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาวะความชื้น และเป็นตัวที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนที่ของลมซึ่งเป็นตัวเติมเชื้ออกซิเจนให้กับไฟป่า
- ลม (wind) เป็นตัวเติมออกซิเจนให้กับไฟป่า ทำให้ไฟป่าเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น
3) สภาพภูมิประเทศ (topography) สภาพภูมิประเทศส่งผลต่อพฤติกรรมไฟป่า ดังนี้
- ความชัน (slope) จากงานวิจัยของ Butler และคณะ (2007) บ่งชี้ว่า ความชันและความหนาแน่นของเชื้อเพลิง มีผลต่อการลุกลามของไฟป่า โดยค่าความหนาแน่นใช้ค่า Packing Ratio ซึ่งหมายถึง ปริมาตรของเชื้อเพลิงต่อปริมาตรของชั้นพลังงาน (fuel bed) โดยสามารถแบ่งกรณีได้ ดังนี้
- Packing Ratio 0.005 การเผาไหม้แทบจะไม่เกิดขึ้น ยกเว้นความชันมากกว่า 31 องศา
- Packing Ratio 0.01-0.03 ความชันไม่เกิน 10 องศา หากเกิดการเผาไหม้อัตราการลุกลามของไฟจะคงที่
- Packing Ratio 0.01-0.03 ความชัน 10-25 องศา หากเกิดการเผาไหม้อัตราการลุกลามของไฟจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
- Packing Ratio 0.01-0.03 ความชันตั้งแต่ 25-31 องศา หากเกิดการเผาไหม้อัตราการลุกลามของไฟจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก
- ทิศด้านลาด หรือ ทิศทางของความลาดชัน (aspect) ทิศด้านลาดทิศใต้และทิศตะวันตก จะได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ในช่วงเวลาบ่าย เชื้อเพลิงจะแห้งกว่า ทำให้ไฟลุกลามได้เร็วกว่าไฟที่เกิดทางทิศด้านลาดทิศเหนือและทิศตะวันออก ซึ่งได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ในช่วงเวลาเช้า
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth