ทัศนวิสัย (visibility) หมายถึง ศักยภาพในการมอง 1) วัตถุที่อยู่ไกลในเวลากลางวัน และ 2) แสงสว่างที่อยู่ไกลในเวลากลางคืน ส่งผลต่อความปลอดภัยในการเดินทางของยานพาหนะทั้งทางบก เรือและทางอากาศ ซึ่งในพื้นที่ใดๆ จะมีทัศนวิสัยสูง-ต่ำ ขึ้นอยู่กับ ปริมาณหรือความเข้มข้นของอนุภาคเล็กขนาดเล็ก ที่แขวนลอยหรือฟุ้งอยู่ในอากาศทั้ง 1) อนุภาคน้ำ (hydrometeor) เช่น หมอก ละอองฝน ฝน หิมะ หรือ 2) อนุภาคของแข็ง (lithometeor) เช่น ฝุ่น ควัน เป็นต้น ซึ่งแสงสว่างจากวัตถุที่อยู่ไกลอาจถูก ดูดกลืน (absorb) หรือ กระเจิง (scatter) โดยแต่ละอนุภาคเหล่านี้ ซึ่งในรายละเอียดของอนุภาคที่ส่งผลต่อทัศนวิสัยในระดับต่างๆ กัน ได้แก่
1) ผลจาก หยาดน้ำฟ้า (Preciptation)
- ฝน (rain) ในสภาวะฝนตกเบา ทัศนวิสัยจะลดลงเล็กน้อย แต่หากฝนตกปานกลาง ทัศนวิสัยมักจะลดลงเหลือ 3-10 กิโลเมตร และในกรณีที่ฝนตกหนัก ทัศนวิสัยอาจลดต่ำลงจนเหลือเพียง 50-500 เมตร ความหนาแน่นและปริมาณละอองน้ำในอากาศเป็นตัวกำหนดหลัก ในการลดทัศนวิสัย
- ละอองฝน (drizzle) คือ ปรากฏการณ์ฝน ที่ประกอบไปด้วยหยดน้ำขนาดเล็ก ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร การตกของละอองฝนจะมีความละเอียดมาก โดยหยดน้ำจะค่อนข้างเล็ก และมีการตกอย่างสม่ำเสมอ ปริมาณของละอองฝนมักไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการท่วมขัง แต่สามารถทำให้พื้นผิวต่าง ๆ เปียกและลื่นได้และส่งผลให้ทัศนวิสัยลดลงได้ถึง 2-3 กิโลเมตร หากมีหมอกหรือละอองร่วมด้วย ทัศนวิสัยอาจลดเหลือไม่เกิน 500 เมตร
- หมอก (fog) เกิดจากการควบแน่นของไอน้ำในอากาศเมื่ออุณหภูมิลดลงและความชื้นสัมพัทธ์สูง ทำให้เกิดหยดน้ำขนาดเล็กที่ลอยอยู่ในอากาศ มีผลในการลดทัศนวิสัยอย่างมาก โดยหากทัศนวิสัยต่ำกว่า 1 กิโลเมตร จะถือว่าเป็นสภาพหมอก ซึ่งจะกระทบต่อการเดินทางและการมองเห็นที่ชัดเจน
- ละอองหมอก (mist) เกิดจากหยดน้ำขนาดเล็กกว่า (ประมาณ 0.005-0.05 มิลลิเมตร) ทำให้เกิดความชื้นในอากาศ เมื่อมองไกลจะเห็นเป็นฟ้าหลัว มักพบในพื้นที่ที่สูง เช่น ยอดเขา หากมีความหนาแน่นมากทัศนวิสัยจะลดลงเป็นระยะที่ต่ำกว่า 1 กิโลเมตร
- หิมะ (snow) หิมะมีผลกระทบต่อทัศนวิสัยมากกว่าฝน เนื่องจากหยดน้ำแข็งที่ลอยในอากาศทำให้การกระจายแสงลดลงมากขึ้น ในสภาวะหิมะปานกลาง ทัศนวิสัยมักจะลดเหลือต่ำกว่า 1 กิโลเมตร และหิมะที่หนักมากอาจลดทัศนวิสัยลงถึงเพียง 50-200 เมตร หรืออาจต่ำกว่านั้น หากหิมะถูกลมพัดขึ้นมา (blowing snow) จะส่งผลให้ทัศนวิสัยลดลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีอุณหภูมิต่ำและละติจูดสูง
เพิ่มเติม : หยาดน้ำฟ้า ไม่ได้มีแค่ฝนกับหิมะ
เพิ่มเติม : เมฆ . หมอก . น้ำค้าง
2) ผลจาก ละอองน้ำ
ลมแรงบริเวณชายฝั่งสามารถพัดเอาละอองน้ำจากคลื่นมาสู่บรรยากาศในลักษณะของ ละอองน้ำลมพัด (Wind-Blown Spray) โดยหากลมมีความเร็ว 41-47 นอต ละอองน้ำลมพัดจะส่งผลต่อทัศนวิสัยได้อย่างชัดเจน และลดทัศนวิสัยลงอย่างมาก
3) ผลจาก อนุภาคน้ำมัน
ทัศนวิสัยในเมืองใหญ่ บางแห่งอาจจะลดลง อันเป็นผลมาจาก ไอน้ำมันจากยานยนต์ ซึ่งยานยนต์ คือสาเหตุหลักของการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศประเภท กลุ่มออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx)
เพิ่มเติม : มลพิษทางอากาศ
4) ผลจาก ควัน
ควันจากการเผาไหม้ เช่น จากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาขยะ หรือควันจากยานพาหนะ จะก่อให้เกิด ฟ้าหลัว (haze) ซึ่งลดทัศนวิสัยในระยะไกล โดย หมอกปนควัน หรือ สโมก (smog) เป็นสาเหตุสำคัญของการลดทัศนวิสัยในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ ในช่วงวันที่อากาศนิ่ง ทำให้ควันและอนุภาคอื่นๆ แขวนลอยในอากาศอย่างยาวนาน
เพิ่มเติม : มลพิษทางอากาศ
5) ผลจาก ฝุ่นและทราย
ฝุ่นละอองและทราย ที่ถูกพัดลอยขึ้นในอากาศจากลมแรง เช่น พายุฝุ่นและพายุทราย จะลดทัศนวิสัยอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่แห้งแล้งหรือทะเลทราย ละอองฝุ่นละอองทรายอาจแพร่กระจายไปเป็นระยะทางไกล โดยการเคลื่อนที่ของฝุ่นละอองนี้อาจครอบคลุมพื้นที่กว้าง หากทัศนวิสัยลดลงต่ำกว่า 1 กิโลเมตร ปรากฏการณ์นี้ถือว่าเป็น พายุฝุ่น (dust storm) หรือ พายุทราย (sand storm)
การแขวนลอย (suspension) เป็นการเคลื่อนที่โดยลมพัดตะกอนขนาดทรายแป้งหรือดินให้ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศและพัดพาไปได้ไกลหลายกิโลเมตร ซึ่งและเมื่อตะกอนตกทับถมกันเรียกว่า ดินลมหอบ (loess)
เพิ่มเติม : การกัดกร่อนในทะเลทราย
6) ผลจาก อนุภาคเกลือ
เมื่อมีลมพัดแรง คลื่นในทะเลจะฟุ้งขึ้นมาสู่บรรยากาศในรูปของ ละอองน้ำทะเล (sea spray) โดยละอองเหล่านี้จะระเหยและทิ้งเกลือไว้ในอากาศ ซึ่งเกลือในอากาศจะเป็นนิวเคลียสในการควบแน่น ช่วยให้เกิดหมอกบางๆ ที่ลดทัศนวิสัยได้มากกว่าอนุภาคควันในสภาวะเดียวกัน
โดยสรุป ทัศนวิสัยมีบทบาทสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางและการใช้ชีวิตประจำวัน ในเมืองใหญ่และพื้นที่ชนบท การลดลงของทัศนวิสัยมีสาเหตุจาก อนุภาคหลายประเภทที่ลอยอยู่ในอากาศ โดยสามารถแบ่งได้เป็น อนุภาคน้ำ (hydrometeors) และ อนุภาคของแข็ง (lithometeors) ซึ่งแต่ละชนิดมีลักษณะและผลกระทบที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและสภาวะทางอากาศ
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth